วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อุดรแต่ก่อนเก่า

 





   



ประวัติศาสตร์

   จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบ ว่า บริเวณพื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 5,000-7,000 ปี จากหลักฐานการค้นพบที่บ้านเชียง อำเภอหนองหานและภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่อำเภอบ้านผือ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการศึกษา ประวัติศาสตร์และโบราณคดีระหว่างประเทศว่า ชุมชนที่เป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่จังหวัดอุดรธานี มีอารยธรรมความเจริญในระดับสูง และอาจถ่ายทอดความเจริญนี้ไปสู่ประเทศจีนก็อาจเป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปั้นดินเผาสีลายเส้นที่บ้านเชียงนั้นสันนิษฐานว่าอาจเป็นเครื่องปั้นดินเผาสีลายเส้นที่เก่าที่สุดของโลก
หลังจากยุคความเจริญที่บ้านเชียงแล้ว พื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานีก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สืบต่อมาอีก จนกระทั่งสมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยทวารวดี (พ.ศ. 1200-1600) สมัยลพบุรี (พ.ศ. 1200-1800) และสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1800-2000) จากหลักฐานที่พบคือใบเสมาสมัยทวารวดีลพบุรี และภาพเขียนปูนบนผนังโบสถ์ที่ปรักหักพังบริเวณทิวเขาภูพาน ใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ แต่ทั้งนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานชื่ออุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานีปรากฏในประวัติศาสตร์เมื่อราวปีจอ พ.ศ. 2117 พระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ทรงเกณฑ์ทัพไทยให้ไปช่วยตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปช่วยรบ แต่เมื่อกองทัพไทยมาถึงเมืองหนองบัวลำภูซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประชวรด้วยไข้ทรพิษจึง ยกทัพกลับไม่ต้องรบพุ่งกับเวียงจันทน์ และที่เมืองหนองบัวลำภูนี่เองสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญมา ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีนั้น จังหวัดอุดรธานีได้เกี่ยวข้องกับการศึกสงคราม กล่าวคือในระหว่างปี พ.ศ. 2369-2371 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ยกทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีผู้นำคือ คุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) กองทัพเจ้าอนุวงศ์ได้ถอยทัพมาตั้งรับที่เมืองหนองบัวลำภู และได้ต่อสู้กับกองทัพไทยและชาวเมืองหนองบัวลำภูจนทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไป กระทั่งในปลายรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณปี พ.ศ. 2411 ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในมณฑลลาวพวน เนื่องมาจากพวกฮ่อซึ่งกองทัพไทยได้ยกขึ้นไปปราบปรามจนสงบได้ชั่วคราว
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ในปี พ.ศ. 2428 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกฮ่อได้รวมตัวก่อการร้ายกำเริบเสิบสานขึ้นอีกในมณฑลลาวพวนและฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และมีท่าทีจะรุนแรง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ และเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ ไปทำการปราบปรามพวกฮ่อ ในเวลานั้นเมืองอุดรธานีก็ยังไม่ปรากฏชื่อ เพียงแต่ปรากฏชื่อ "บ้านหมากแข้ง" หรือ "บ้านเดื่อหมากแข้ง" สังกัดเมืองหนองคายขึ้นการปกครองกับมณฑลลาวพวน และกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ได้เดินทัพผ่านบ้านหมากแข้งไปทำการปราบปรามพวกฮ่อจนสงบ
ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้ว ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศลต้องการลาว เขมร และญวนเป็นอาณานิคม เรียกว่า "กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)" ด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงยอมเสียสละ ส่วนน้อยเพื่อรักษาประเทศไว้ จึงทรงสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส และตามสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ มีเงื่อนไขห้ามประเทศสยามตั้งกองทหารและป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตรของฝั่งแม่น้ำโขง
ดังนั้น หน่วยทหารไทยที่ตั้งประจำอยู่ที่เมืองหนองคาย อันเป็นเมืองศูนย์กลางของหัวเมืองหรือมณฑลลาวพวน ซึ่งมีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการ จำต้องอพยพเคลื่อนย้ายลึกเข้ามาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อบ้านเดื่อหมาก แข้ง (ซึ่งเป็นที่ตั้งจังหวัดอุดรธานีปัจจุบัน) ห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงกว่า 50 กิโลเมตร เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะมีแหล่งน้ำดี เช่น หนองนาเกลือ (หนองประจักษ์ปัจจุบัน) และหนองน้ำอีกหลายแห่งรวมทั้งห้วยหมากแข้งซึ่งเป็นลำห้วยน้ำใสไหลเย็น กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมทรงบัญชาให้ตั้งศูนย์มณฑลลาวพวน และตั้งกองทหารขึ้น ณ หมู่บ้านเดื่อหมากแข้ง จึงพอเห็นได้ว่าเมืองอุดรธานีได้อุบัติขึ้นโดยบังเอิญเพราะเหตุผลทางด้าน ความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศ อีกทั้งเหตุผลทางการค้า การคมนาคมในอดีต
อย่างไรก็ตามคำว่า "อุดร" ถูกตั้งชื่อเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้ง เมืองอุดรธานีขึ้นที่บ้านหมากแข้ง เป็นศูนย์กลางของมณฑลอุดร ครอบคลุม จังหวัด อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหารในปัจจุบัน   ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



  


  


    

จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่บนที่ราบสูง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย เป็นดินแดน ที่มีความสำคัญทางอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่ง ของโลก
    อุดรธานี ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๕๖๔ กิโลเมตร  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 11,780.30 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7.362 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ มากเป็นอันดับ 4 ใน 19 จังหวัด   ของภาคอิสาน รองจาก จ.นครราชสีมา,อุบลราชธานีและชัยภูมิ
    สภาพภูมิประเทศ  ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง สูงกว่าระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ยประมาณ 187 ฟิต พื้นที่เอียงลาดลงสู่แม่น้ำโขง ทาง จ.หนองคาย ประกอบด้วยทุ่งนา ป่าไม้และภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินทรายปนดินลูกรัง ไม่เก็บน้ำหรืออุ้มน้ำในฤดูแล้ง พื้นที่บางแห่งเป็นดินเค็ม ประกอบกสิกรรมไม่ค่อยได้ผลดี  พื้นที่ทางทิศตะวันตก มีภูเขาและป่าติดต่อกัน เป็นแนวยาว มีเทือกเขาสำคัญคือ เทือกเขาภูพานทอดเป็นแนวยาว ตั้งแต่เขตเหนือสุดไปจน จรดทางใต้
    จังหวัดอุดรธานีเคยเป็นมณฑลอุดรในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีอาณาเขตปกครองกว้าง ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันอุดรธานีศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้ง ในปี 2558 อุดรธานีจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน มีศูนย์ประชุมและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้วย
                            พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี



แหล่งท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

       สวนสาธารณะหนองประจักษ์

     
       ภูฝอยลม
    

    อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

  ทะเลบัวแดง อำเภอกุมภวาปี
  1. สวนสาธารณะหนองประจักษ์ อำเภอเมืองอุดรธานี
  2. ภูฝอยลม อำเภอหนองแสง
  3. ทะเลบัวแดง อำเภอกุมภวาปี
  4. อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยหลวง อำเภอเมืองอุดรธานี
  5. สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ อำเภอเมืองอุดรธานี
  6. วนอุทยานนายูง อำเภอน้ำโสม
  7. อ่างเก็บน้ำพานสร้างคอม
  8. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
  9. คำชะโนด อำเภอบ้านดุง
  10. ถ้ำและเพิงหินต่างๆ
  11. น้ำตกธารงาม
  12. ถ้ำสิงห์
  13. หนองหาน กุมภวาปี
  14. วนอุทยานวังสามหมอ

แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

 

แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง

ศาลหลักเมืองจังหวัดอุดรธานี

วัดป่าภูก้อน อำเภอนายูง
  1. อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม อำเภอเมืองอุดรธานี
  2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง อำเภอหนองหาน
  3. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ
  4. พระพุทธบาทหลังเต่า
  5. พระพุทธบาทบัวบาน
  6. พระพุทธบาทบัวบก
  7. วัดป่าภูก้อน
  8. วัดป่าบ้านตาด
  9. วัดทิพยรัฐนิมิตร
  10. ศาลหลักเมืองจังหวัดอุดรธานี
  11. ศาลเจ้าปู่ย่า
  12. วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมืองอุดรธานี
  13. วัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมืองอุดรธานี
  14. คำชะโนด อำเภอบ้านดุง 
  15. ศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ อำเภอบ้านดุง 
  16. อุตสหกรรมเกลือสินเธาว์ 
  17. ถ้ำสิงห์
  18. วัดถ้ำสหาย
  19. วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ
  20. วัดนาคาเทวี บ้านนาข่า

แหล่งท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมประเพณีและกิจกรรม

  1. แหล่งจำหน่ายผ้าพื้นเมือง บ้านนาข่า ตำบลนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี]
  2. งานมหกรรมโฮมพาแลง แดนผ้าหมี่ขิดจังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองอุดรธานี จัดระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคมของทุกปี
  3. งานนมัสการพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จัดบริเวณวัดพระพุทธบากบัวบก ในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
  4. งานฉลองเจ้าปู่ เจ้าย่า อำเภอเมืองอุดรธานี จัดทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี
  5. งานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน อำเภอกุมภวาปี ช่วงออกพรรษาของทุกปี
  6. งานเทศกาลโคมลม อำเภอพิบูลย์รักษ์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
  7. งานถนนอาหาร สงกรานต์เมืองอุดรธานี อำเภอเมืองอุดรธานี จัดในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายนของทุกปี บริเวณสวนสาธารณะหนองประจักษ์ และถนนเทศา
  8. งานประเพณีบุญบั้งไฟล้าน บ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จัดขึ้นวันที่ 15 ค่ำ เดือน 6
  9. บ้านไทพวน ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน

เส้นทางเชื่อมการท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียง

  • อุดรธานี-หนองบัวลำภู-เลย:วัดป่าบ้านตาด-วัดถ้ำกลองเพล-อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร-ถ้ำเอราวัณ-ภูกระดึง หรือภูหลวง-ภูเรือ-แก่งคุดคู้
  • อุดรธานี-หาดโขงแก่งโขง:อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท-วัดป่าภูก้อน-วัดป่าบ้านเพิ่ม-หาดคัมภีร์-แก่งคุดคู้-น้ำตกตาดหมอก-น้ำตกธารทอง
  • อุดรธานี-หนองคาย:วัดพระธาตุบังพวน-วัดพระธาตุองค์ตื้อ-เวียงคุก-สะพานมิตรภาพ-ท่าเสด็จ-ศาลาแก้วกู่
  • อุดรธานี-หนองบัว-ขอนแก่น:วัดถ้ำกลองเพล-อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ-เขื่อนอุบลรัตน์-วัดพระพุทธบาทภูพานคำ-วัดพระธาตุขามแก่น-น้ำตกธารงาม
  • อุดรธานี-สกลนคร:บ่อสร้างเหวย-บ้านเชียง-วัดป่าอุดมสมพร-วัดถ้ำ ขาม-หนองหาน-วัดพระธาตุเชิงชุม-วัดป่าสุทธาวาส-พระตำหนักภูพานราช นิเวศ-น้ำตกปรีชาสุขสันต์-เขื่อนน้ำอูน
  • อุดรธานี-กาฬสินธุ์:วัดป่าบ้านตาด-วัดมหาธาตุเจดีย์ดอนแก้ว-วัดป่าแมว-วนอุทยานภูพระ-เขื่อนลำปาว-สวนสะออน-ไดโนเสาร์สหัสขันธ์-บ้านโพนแพรวา

สวนสาธารณะ

1. สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนคร เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งเมืองอุดรธานี เดิมเรียกว่า หนองนาเกลือ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัว เมืองเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ทรงก่อตั้งเมืองอุดรธานี ในปี พ.ศ. 2530 เทศบาลเมืองอุดรธานีได้ทำการปรับปรุงหนองประจักษ์ขึ้นใหม่ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยบริเวณตัวเกาะกลางน้ำได้จัดทำสวนหย่อม ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดสวยงามมาก ทำสะพานเชื่อมระหว่างเกาะ มีน้ำพุ หอนาฬิกา และสวนเด็กเล่น แต่ละวันจะมีประชาชนไปพักผ่อนและออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะมีพระตำหนักหนองประจักษ์ซึ่งเคยเป็นที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
2. สวนสาธารณะหนองสิม เป็นสวนสาธารณะในย่านชุมชนที่จะให้บริการแก่ประชาชนสำหรับเป็นสถานที่ใช้ใน การออกกำลังกาย พักผ่อน ซึ้งภายในได้มีการจัดพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ
3. สวนสาธารณะหนองบัว เป็นสวนสาธารณะสำหรับใช้ออกกำลังกายจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้เป็นสถานที่พบปะพูดคุยกัน สวนสาธารณะหนองบัวตั้วอยู่ภายในเขตอำเภอเมืองอุดรธานี ภายในจัดเป็นสวนหย่อมปลูกต้นไม้ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม อีกทั้งยังมีการจัดแสดงน้ำพุให้ได้ชมกันอีกด้วย และรอบสวนสาธารณะหนองบัวยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดอุดรธานีตั้งอยู่ ด้วย นั่นก็คือ ศาลเจ้าปู่ย่า จังหวัดอุดรธานี

การเดินทาง


เส้นทางคมนาคมและการเดินทางที่สำคัญของอุดรธานี คือ
  • ทางรถยนต์ ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 จากกรุงเทพมหานครไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงสระบุรีบริเวณกิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ผ่านนครราชสีมา ขอนแก่น ถึงอุดรธานี รวมระยะทางประมาณ 546 กิโลเมตร
  • ทางรถโดยสารประจำทาง ได้แก่ บริการรถโดยสารทั้งธรรมดาและรถปรับอากาศวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรธานีทุกวัน รถออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (จตุจักร) ถนนกำแพงเพชร 2 นอกจากนี้ ยังมีรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดต่าง ๆ คือ หนองคาย หนองบัวลำภู เลย สกลนคร พิษณุโลก นครพนม เชียงใหม่ เชียงราย ระยอง ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อุบลราชธานี และอุตรดิตถ์ และจังหวัดอื่น ๆ เป็นต้น
  • ทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แก่ ขบวนกรุงเทพฯ-หนองคาย มีขบวนรถตอนเช้า - เย็น, กรุงเทพฯ-อุดรธานี มีขบวนรถตอนเช้า - เย็น, นครราชสีมา-หนองคาย, อุดรธานี-ท่านาแล้ง (ลาว)
  • ทางอากาศ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี

ย่านการค้าที่สำคัญ

 

 เจริญศรีพาร์ค

  ย่านถนนทองใหญ่-ถนนประจักษ์ศิลปาคม


    ย่านถนนทองใหญ่-ถนนประจักษ์ศิลปาคม เป็นจุดบรรจบของถนนสำคัญสองสาย และยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมสำคัญของจังหวัดอุดรธานี เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานีขนส่งผู้โดยสารอุดรธานีแห่งที่ 1 และสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญ มีห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร หลายประเภทอยู่ด้วยกัน และยังเป็นจุดนัดพบปะสังสรรค์ของชาวอุดร ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าจำนวนมากตั้งอยู่

ย่านถนนนิตโย-ถนนโพศรี

ทางหลวงหมายเลข 22 หรือถนนนิตโย เป็นถนนที่เป็นเส้นทางหลักเชื่อมต่อกับจังหวัดสกลนคร แต่ช่วงที่อยู่ในเขตตัวเมืองอุดรธานี จะเรียกว่า ถนนโพศรี และเชื่อมต่อกับย่านธุรกิจที่สำคัญอีกหลายย่าน จึงเป็นถนนที่มีห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านค้าต่าง ๆ รวมทั้งตลาดขนาดใหญ่ตั้งอยู่

ย่านวงเวียนห้าแยกน้ำพุ

ห้าแยกน้ำพุ เป็นจุดบรรจบของถนนสายสำคัญของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับการวางผังเมืองไว้เป็นอย่างดีตั้งแต่อดีต และเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อยู่คู่เมืองอุดรธานี นับตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการก่อตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นมา ทำให้บริเวณห้าแยกน้ำพุเป็นย่านกานค้าเก่าแก่ที่มีร้านค้าต่าง ๆ มากมายรวมอยู่ในย่านนี้ นอกจากนี้ยังเป็นย่านธุกิจค้าส่งเสื้อผ้าที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน

ย่านวงเวียนหอนาฬิกา

วงเวียนหอนาฬิกาหรือสี่แยกคอกวัว เป็นหนึ่งในวงเวียนสำคัญของเมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นจุดตัดของถนนอุดรดุษฎีและถนนประจักษ์ศิลปาคม เป็นย่านการค้าสำคัญของเมืองอุดรธานีมาตั้งแต่อดีตที่เชื่อมไปยังย่านอื่น ๆ ของตัวเมือง

ย่านถนนมิตรภาพ (ช่วงเลี่ยงเมือง อุดรธานี-หนองคาย)

ย่านธุรกิจแห่งใหม่ที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองไปยังชานเมือง เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดข้างเคียง และประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีห้างสรรพสินค้าและร้านค้ามากมายเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุก่อสร้างและเครื่องเรือน และค้าส่ง ค้าปลีกสินค้าแฟชั่น

ย่านถนนมิตรภาพ (ช่วงเลี่ยงเมือง อุดรธานี-ขอนแก่น)

ย่านธุรกิจแห่งใหม่ที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองไปยังชานเมือง เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดข้างเคียง

ย่านถนนบุญยาหาร (เลี่ยงเมือง ช่วงอุดรธานี-หนองบัวลำภู)

ย่านธุรกิจแห่งใหม่ ที่เกิดจากการขยายตัวของตัวเมืองไปยังชานเมือง ซึ่งมีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมากตั้งอยู่ เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังสนามบินนานาชาติอุดรธานีซึ่งเป็นศูนย์กลางการ บินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ถนนสายนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถานีขนส่งผู้โดยสารอุดรธานีแห่งที่สอง ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดเลย ทำให้มีห้างค้าปลีกค้าส่งจำนวนมากตั้งอยู่

แหล่งข้อมูล

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัดอุดรธานีwww.udonthani.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น